เรื่องของ "ผู้นำ" สำคัญคือเรื่อง "การตัดสินใจ"

ว่าด้วยเรื่อง "ผู้นำ" ย่อมหมายถึง ผู้ที่จะนำคนอื่น..
      เสมือนออกเรือหาปลาไปกลางทะเลโพ้น..
อาจเจอเหล่ามรสุม เจอแสงแดดที่แผดร้อน..
    หรืออาจฝ่าพายุฝนที่ตกกระหน่ำ..
ต้องพบเจอคลื่นทะเลครวญซัดน้อยใหญ่..
     หรืออาจไม่เจออะไรเลย..แม้แต่ปลาสักตัวก็เป็นได้..
แต่การออกไปคือ.."ความหวัง"..
        ความหวังว่าจะได้เจอ "เป้าหมาย"..
  นั่นก็คือ "ปลา" หรือสัตว์ทะเลที่สามารถนำมาขายได้..


การเสี่ยงดวงเพื่อพยายามให้บรรลุผลหรือเป้าหมายนั้น..
แต่การออกไปทุกครั้ง ต้องมีผู้นำเรือทุกครั้ง..
การนำคือการแสดงจุดยืนและกำหนดทิศทางการเดินเรือนั้นเอง
หรือจะเจอกับสิ่งใดๆบ้าง ในการเดินทางไปข้างหน้า..
ผู้นำที่ดี คือสามารถเป็นผู้ตามได้ในบางสถานการณ์ แต่ต้อง "กล้านำทุกเรื่องได้เช่นกัน"..
      ผู้นำหรือหัวหน้างานมีมากมายหลายแบบ โดยว่ากันตามทักษะการเป็นหัวหน้างาน หรือผู้บริหารจัดการงาน ตามอุปนิสัยของแต่ละคนแล้วสามารถจำแนกได้เป็น 6 แบบ ดังนี้
ผู้นำแบบชี้นำ นับว่าเป็นผู้นำที่มีจินตนาการ แสดงให้เห็นถึงทิศทางที่หน่วยงานจำเป็นต้องไป มักแบ่งปันข้อมูลอย่างกว้างขวางรอบด้าน แต่มักขาดการลงไปในรายละเอียด และอาจจะทิ้งพนักงานไว้ข้างหลังได้ง่าย ถ้าก้าวเร็วไปโดยไม่เหลียวหลัง
ผู้นำเน้นสร้างคน เป็นผู้ที่สามารถเชื่อมความต้องการในแต่ละคนเข้ากับเป้าหมายขององค์กรได้ และสามารถทำให้เกิดความผูกพันในระดับสูง แต่อย่างที่เราทราบการพัฒนาคนต้องการเวลา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างสมดุลระหว่างงานที่จะต้องเสร็จ กับการดูแลคน
ผู้นำแบบเพื่อนร่วมงาน เป็นแบบที่มุ่งเน้นความสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วมสูง อันนำไปสู่ความสมัครสมานสามัคคี ผู้คนรอบข้างเข้าถึงได้ง่าย แต่ต้องระวังหรือหลีกเลี่ยงโอกาสที่พนักงานจะเกินเลย หรือขาดความเกรงใจ
ผู้นำนักประชาธิปไตย มักเป็นผู้คอยกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดีหรือเรื่องที่ร้าย เหมาะที่สุดเมื่อต้องการให้ทุกคนยอมรับ หรือเมื่อองค์กรไม่แน่ใจว่าจะมีการดำเนินการที่ดีที่สุด แต่มักเสี่ยงที่จะขาดการดำเนินการที่มีประสิทธิผล เพราะอาจต้องใช้เวลาในการหาข้อสรุป เพราะเอาแต่ใจคนอื่น แต่บางครั้ง “การตัดสินใจ” เป็นเรื่องที่อาจต้องการความชัดเจนและทันที
ผู้นำแบบอย่าง มักเป็นผู้ที่มีการกระทำที่เป็นดั่งวาจาสิทธิ์ นั่นคือไม่จำเป็นต้องพูด แต่การกระทำได้ทำให้คนอื่นคล้อยตาม แม้ว่าจะคาดหวังว่าทุกคนจะส่งมอบงานที่ดีเลิศ แต่มักละเลยที่จะให้แนวทางด้วยวาจา เพราะคิดว่าคนอื่นคงมองเห็นได้จากการกระทำของตน แสดงตนให้เป็นแบบอย่างหรือต้นแบบเป็นพื้นฐาน
ผู้นำจอมเผด็จการ เป็นผู้ที่มีความมั่นใจในตัวเองสูง เป้าหมายชัดเจน สื่อสารหรือสั่งการแบบตรงไปตรงมา จนดูเหมือนไม่ได้สนใจในความคิดของคนอื่นเท่าใด มักสร้างความกลัวให้เกิดขึ้นกับคนรอบข้าง จากลักษณะอันเย็นชาและมีระยะห่างจากผู้คนรอบข้าง
     อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นผู้นำแบบไหน แต่ถ้าสอดรับกับบริบทสภาพแวดล้อมของผู้คน และวัฒนธรรมของหน่วยงานนั้น ผลงานและความสำเร็จก็เกิดขึ้นได้ สำหรับบางคนอาจจะเลือกนำโดยใช้หลากหลายสไตล์แบบปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ก็คงไม่ผิดกฏิกาใดๆ เพียงแต่อย่าใช้จนตัวเองสับสนเป็นพอ “ไม่มีจุดยืน” เป็นของตนเอง นั่นแหละน่ากลัวที่สุด เพราะ “ผู้นำ” จะต้องทำให้ผู้ตาม “ทำตาม คล้อยตาม และยอมรับ” ให้ได้
และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ “ผู้นำต้องกล้าตัดสินใจ” นั่นเอง