บทความ "สมอง" กับ "หัวใจ"


เราเคยได้ยินหลายหลากบทความจากปราชญ์ต่างวาระมามากมาย
“หนึ่งสมองสองมือ..." หรือแม้แต่ "หนึ่งหัวใจหนึ่งกาย”
เราอาจเคยได้ยินบ่อยๆ ว่า “หนึ่งสมองสองมือ” สามารถสร้างโลกได้..
เราอาจเปรียบได้อีกว่า “หนึ่งหัวใจหนึ่งกาย” ก็สามารถเนรมิตสรรพสิ่งได้เช่นกัน..

ทางธรรมพระท่านกล่าวไว้ว่า “จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว”..
จิตเป็นที่ตั้ง จิตเป็นประธาน จิตคิดอย่างไร กายก็จะทำอย่างนั้น..

มาว่ากันถึงเรื่อง “สมอง" กับ "หัวใจ” กันดีกว่า..
ในการขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ ในชีวิตเรา ล้วนมีทั้ง "ศิลป์" และ "ศาสตร์"..

หรือในกองทัพก็มีทั้งฝ่าย “บุ๋น" และ "บู๊”..
เรียกว่า “ฝ่ายวางแผน” (กุนซือ) และ “ฝ่ายนักรบ” (ขุนพล)..
ในหนึ่งกองทัพที่เกรียงไกรตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันก็จำเป็นต้องมีในอนาคต..
องค์ประกอบ 2 อย่าง 

ฝ่ายหนึ่งที่เรียกว่า “ฝ่ายวางแผน” หรือ “มันสมอง”..
ส่วนนี้อาจจะรบไม่เก่ง ทางด้านร่างกายอาจไม่แข็งแกร่ง หรือมีความอดทนต่อสภาวะแวดล้อมอะไรมากมายนัก..
แต่ถ้าพูดถึงเรื่อง “ความคิดอ่าน” การวางแผน การคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ รอบรู้ รอบคอบ รอบด้าน และลงลึกไปในรายละเอียด จะมีจุดเด่นเป็นอย่างมาก..
จนนำไปสู่กระบวนการ “การทำงาน หรือการรบนั้นๆ” แล้วก็ไม่แพ้ใครง่ายๆ หรือเรียกว่า “ผู้ชนะ” ได้ด้วยความคิดและสติปัญญา..นั่นเอง

อีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ฝ่ายนักรบ” หรือ “ยอดขุนพล” หรือ "ขุนศึก"..
แกร่งกล้า สามารถ บ้าบิ่น ทรงพลัง มากอำนาจ เปี่ยมอิทธิพล เด็ดเดี่ยว เป็นผู้นำ เสียสละ อดทน ไม่ย่อท้อ ต่อสู้ในทุกอุปสรรค กล้าได้กล้าเสีย และกล้าเสี่ยง แม้แต่ชีวิต เรียกว่า "นักรบย่อมไม่กลัวบาดแผล" แม้แต่ชีวิตก็พลีได้ เพื่อชัยชนะ...นั่นเอง

แต่สิ่งที่ ทั้งฝ่าย "นักบุ๋นกับนักบู๊" ต้องมีก็คือ “ความฉลาด ความเฉลียว มีเป้าหมายชัดเจน อดทน ซื่อสัตย์ เสียสละ มีวุฒิภาวะ เป็นผู้นำ รักหัวหน้า รักลูกน้อง รักเพื่อนพร้อง และครองใจคน ฯลฯ..

        ในร่างกาย "สมอง" เปรียบเสมือน "ศูนย์รวมความคิด จิตใจ และศูนย์กลางการบังคับบัญชา"..
        สำหรับ "หัวใจ" เปรียบเสมือน "กองกำลังทหารในทุกภาคส่วน "ทัพหน้า" และ "ทัพกลาง"  "ทัพหลัง" ตลอดจน "ทัพเสบียง" ทัพสนับสนุนต่างๆ 

เปรียบไปในภาคธุรกิจ...
    "สมอง" ก็คือ "การบริหารงาน การบริหารคน การบริหารเงิน" หรือกระบวนการต่างๆ 
    "หัวใจ" ก็คือ "การขาย การตลาด การประชาสัมพันธ์" องค์ประกอบหลักสำคัญๆ ขององค์กรนั้นๆ
     การที่ทั้ง "สมอง" และ "หัวใจ" ต่างมีความสำคัญกันคนละแบบ ยากที่จะฟันธงหรือบอกได้ว่า "อวัยวะส่วนไหนสำคัญกว่ากัน" และส่วนไหนสำคัญที่สุด..
     เพราะแท้จริงแล้ว "ทั้งสมอง และ หัวใจ" ต่างสำคัญ และต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน..
    ต่างต้องเกื้อกูลระหว่างกัน..เพื่อนำไปสู่การกระทำ ผลสัมฤทธิ์ ผลผลิต ตลอดจนสิ่งที่เราคาดหวัง หรือสิ่งที่เราเรียกกันว่า "เป้าหมาย" โดยผู้ที่สามารถบรรลุความสำเร็จนั้นได้ก็คือ "ผู้ที่หยัดยืน" ได้อย่างสง่างาม มั่นคง และยั่งยืน นั่นเอง